1.ความเป็นมาของตัวอักษรไทย
1.1 วิวัฒนาการของตัวอักษรไทย
ตัวอักษรไทยในยุคแรกๆ สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากตัวอักษรอินเดียแต่ยังไม่ปรากฎมีหลักฐานชัดเจน และใช้ตัวอักษรขอมหวัดในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ ในระยะต่อมาเมื่อประมาณในปี พ.ศ. 1826
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นใช้ ที่เรียกว่า "ลายสือไทย" ลายสือไทยที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นนี้ได้ดัดแปลงมาจากตัวอักษรขอม โดยพยายามให้ลักษณะของตัวอักษรสามารถเขียนได้ง่ายขึ้น ทรงกำหนดได้วางรูปสระไว้ให้อยู่ในบรรทัดรวมกับตัวพยัญชนะทั้งหมดเช่นเดียวกับแบบอย่างตัวอักษรของโรมัน และทรงคิดให้มีวรรณยุกต์กำกับเสียงด้วยอันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของภาษาไทย จนถึงทุกวันนี้
ลายสือไทยที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้นนี้ ได้นำมาใช้เป็นต้นแบบของการพัฒนารูปแบบตัวอักษรในยุคต่อๆมา ที่เด่นชัดได้แก่ ยุคสมัยของพระเจ้าฦๅไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1900 ได้เปลี่ยนเอาสระ อิ อี อึ อื ขึ้นไปเป็นร่ม และนำเอาสระ อุ อู ลงไปเป็นรองเท้าของพยัญชนะ (โดยเทียบเคียงจากศิลาทั้งสองสมัย) ส่วนรูปแบบของตัวอักษรจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย ในปี พ.ศ. 2223 รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้พัฒนารูปแบบตัวอักษรอีกครั้ง โดยได้เปลี่ยนแปลงจากลักษณะเส้นโค้งของตัวอักษรมาเป็นเส้นตรงและเป็นเหลี่ยมมากขึ้น ทำให้สามารถเขียนได้สะดวกขึ้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบตัวอักษรครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาตัวอักษรไทย เพราะได้กำหนดให้เป็นแบบอย่างของตัวอักษรไทยที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ การเปลี่ยนแปลงในระยะหลังที่พอจะพบเห็นได้เป็นลักษณะลีลาของการเขียน เช่น แบบอย่างลักษณะตัวอักษรข้อความที่เรียกว่า “แบบไทยย่อ” ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีลีลาการเขียนเป็นแบบตัวเอน เส้นขนานกันเป็นส่วนใหญ่ และเน้นหางตัวอักษรให้มีลีลาที่อ่อนช้อย
รูปแบบตัวอักษรไทยที่ดูแล้วมีรูปลักษณ์แปลกตาไปจากเดิม ยุคที่มีการนำเอาตัวอักษรไทยเข้ามาใช้ในการพิมพ์ ในปี พ.ศ.2371 ได้มีการหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดย เจมส์ โลว์ เอกสารที่จัดพิมพ์ขึ้นนั้นเป็นตำราไวยากรณ์ไทย ชื่อ A GRAMAR OF THE THAI ตัวอักษรเป็นลักษณะแบบคัดลานมือ รูปลักษณ์ที่ดูแปลกตาไปเนื่องจากเป็นการแกะตัวอักษรจากบล็อก และหล่อจากแม่พิมพ์ทองแดง แทนการใช้วัสดุขีดเขียน หรือจารึกดังเช่นสมัยก่อน การพัฒนาระบบการพิมพ์ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2381 หมอบรัดเลย์ ได้ทำการหล่อตัวพิมพ์ขึ้นใช้เองในประเทศไทย รูปแบบตัวอักษรขณะนั้นยังคงใช้แบบอย่างตัวอักษรของ เจมส์ โลว์ แต่ได้แก้ไขให้สวยงามและมีความประณีตมากขึ้น มาจนกระทั่งราวปี พ.ศ.2385 ที่ได้มีการปรับปรุงรูปลักษณ์ของตัวอักษรอย่างเด่นชัด โดยออกแบบให้ตัวอักษรมีลักษณะเป็นแบบหัวกลม ตัวเหลี่ยม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การสร้างรูปแบบตัวอักษรในครั้งนี้ ได้เป็นแบบอย่างในการพัฒนารูปแบบตัวอักษรที่ใช้ในวงการพิมพ์จนถึงทุกวันนี้
1.2 ตารางการเปรียบเทียบรูปแบบตัวอักษรไทยที่เปลี่ยนแปลงไปในสมัยต่างๆ
เกี่ยวกับวิธีประดิษฐ์อักษรไทย ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นเรื่องย่อจากหนังสือ "สันนิษฐานเทียบการเขียนอักษรไทยกับอักษรขอม ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง" ตามการสันนิษฐานของศาสตรมจารย์ฉ่ำ ทองตำวรรณ ซึ่งดำเนินตามแนวคิดของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ที่ว่า "การที่ของพ่อขุนราม คำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นครั้งนั้น ดูเหมือนพระองค์ได้ทรงแปลงมาจาก ตัวอักษรขอมหวัด"
** ข้อมูลข้างต้นได้จากหนังสือวิธีประดิษฐ์อักษรไทย
ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่ราชบัณฑิตยสถาน
ได้จัดพิมพ์ เนื่องในงานฉลอง 700 ปี ลายสือไทย
โดย บริษัท ประยูรวงศ์ จำกัด เมื่อปีพุทธศัการาช 2527
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น